หน้าแรก NATURE & ANIMALS ปลากะแมะ ‘นักต้มตุ๋น’ แห่งป่าพรุโต๊ะแดง

ปลากะแมะ ‘นักต้มตุ๋น’ แห่งป่าพรุโต๊ะแดง

ถ้าพูดถึงปลากะแมะ เชื่อว่ามีหลายคนที่เพิ่งเคยได้ยินชื่อ หรือเคยได้ยินแต่นึกภาพไม่ออกว่ามันหน้าตาเป็นยังไง ... เรื่องนี้ไม่แปลก เพราะปลาชนิดนี้ค่อนข้างประหลาด และหายากในประเทศไทย เราจะพบปลาชนิดนี้ได้เฉพาะที่ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาสเท่านั้น และเพราะอะไรมันถึงถูกเรียกว่า "นักต้มตุ๋น"

ปลากะแมะ

ทำไมปลาประหลาดตัวนี้ถึงเป็นนักต้มตุ๋น

หลักๆ เลย เพราะมันเป็นปลาที่มีนิสัยการล่าเหยื่อคล้ายกับปลาตกเบ็ด หรือ Angler fish ที่เป็นปลาทะเลน้ำลึก จนปลากะแมะมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Angler catfish ชื่อวิทยาศาสตร์ Chaca bankanensis และก็สมชื่อของมัน ปลากะแมะจะตกเหยื่อด้วยหนวดของมัน จากนั้นจะดูดเหยื่อเข้ามาด้วยปากใหญ่ๆ อย่างไม่ต้องออกแรงล่ามากนัก

ต้องบอกว่าแทบทุกสิ่งของปลากะแมะ มีไว้เพื่อหลอกเหยื่อ มันเป็นปลาที่อาศัยตามท้องน้ำ แปะตัวกลมกลืนกับใบไม้หรือฝั่งตัวใต้โคลน และด้วยความที่เป็นปลาล่าเหยื่อเหมือนปลาตกเบ็ด มันจึงมีปากใหญ่พิเศษที่มีแรงดูดมหาศาล และยังมีหนวดอีก 2 คู่

ปลากะแมะจะใช้หนวดที่กระดิกเหมือนหนอน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือต้มตุ๋นอย่างหนึ่ง และเมื่อมีเหยื่อหลงกลว่ายเข้าใกล้ มันจะดูดด้วยปากขนาดใหญ่ และเมื่อถึงตอนนั้นก็เป็นอันจบเกม

สรุปลักษณะโดยรวมของปลากะแมะ

ปลากะแมะมีหัวที่แบนราบมาก ปากกว้าง ครีบหลังและครีบอกสั้น ก้านครีบอกมีขอบหยัก ครีบท้องใหญ่ มีผิวย่นและเป็นตุ่มขนาดต่างๆ หัวมีติ่งหนังอยู่โดยรอบ ลำตัวสีน้ำตาลแดงเข้มหรือน้ำตาลไหม้ ท้องสีจาง มีประและจุดสีคล้ำกระจายทั่ว มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 20 เซนติเมตร

อาหารของปลากะแมะ ได้แก่ ปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็ก ในประเทศไทยพบอาศัยอยู่ที่ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาสที่เดียวเท่านั้น สถานภาพเป็นปลาใกล้สูญพันธุ์ในธรรมชาติ เนื่องจากถิ่นที่อยู่ถูกทำลาย ในต่างประเทศพบปลากะแมะได้ที่มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และบรูไน

วงศ์ปลากะแมะ

สำหรับวงศ์ปลากะแมะ มีชื่อวงศ์ว่า Chacidae (/ชา-คิ-ดี้/) ทั้งหมดอาศัยอยู่ในน้ำที่มีค่า pH ประมาณ 6.5 – 8.0 ในป่าพรุพบตั้งแต่อินเดียจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในวงศ์นี้แบ่งออกเป็น 4 ชนิด คือ

  1. ปลากะแมะ (Chaca bankanensis) ที่พบในประเทศไทย
  2. ปลากะแมะพม่า (Chaca burmensis) เป็นชนิดที่หายากที่สุด พบในป่าพรุในประเทศพม่าเท่านั้น
  3. ปลากะแมะอินเดีย (Chaca chaca) พบที่อินเดียมีลำตัวที่ป้อมสั้นที่สุด มีผิวที่ขรุขระมากกว่าชนิดอื่นๆ ปัจจุบัน สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
  4. ปลากะแมะบอร์เนียว (Chaca serica) เป็นชนิดที่ค้นพบใหม่ล่าสุด พบทางตอนใต้ของเกาะบอร์เนียว

เอาละ! มาสรุปส่งท้ายปลากะแมะไทยกันหน่อย คงต้องบอกว่าปลาชนิดนี้ถือเป็นปลาหายาก เพราะในไทยพบได้ในป่าพรุโต๊ะแดงเท่านั้น และถึงแม้มันจะเป็นปลาที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แต่ก็เป็นปลาที่เลี้ยงให้รอดยากมาก หากต้องการเลี้ยงคงต้องใช้ความพยายามมากหน่อย .. ถ้าพบมันในธรรมชาติ ก็ตัดสินใจกันเอาเองว่าจะทำยังไงกับมัน

อ่านเรื่องอื่น

บทความก่อนหน้านี้10 อันดับ ‘ปลาน้ำจืด – ทะเล’ บิน-ว่ายน้ำเร็วที่สุดในโลก
บทความถัดไป6 อันดับ ‘งูไทยนิสัยดี’ ถ้าเจออย่าเพิ่งรีบคว้าไม้ตี