หน้าแรก NATURE & ANIMALS 6 อันดับ ‘งูไทยนิสัยดี’ ถ้าเจออย่าเพิ่งรีบคว้าไม้ตี

6 อันดับ ‘งูไทยนิสัยดี’ ถ้าเจออย่าเพิ่งรีบคว้าไม้ตี

ในประเทศไทยมีงูอยู่มากมายหลายชนิด ทั้งที่มีพิษร้ายแรงติดอันดับโลก ไปจนถึงแบบที่ไม่มีพิษเลย ที่ตัวยาวหลายเมตรหรือตัวพอๆ กับไส้เดือนก็ยังมี และนี้คือ 6 อันดับงูนิสัยดี ที่สามารถพบในธรรมชาติของไทย

อันดับ 6 : งูเขียวปากจิ้งจก (Oriental Whip Snake)

งูเขียวปากจิ้งจก เป็นหนึ่งในงูไทยที่พบได้บ่อยที่สุด หากบ้านใครมีสวน มีต้นไม้ได้ความร่มรื่นหน่อย ก็สามารถพบเจองูเขียวปากจิ้งจกได้ไม่ยาก งูชนิดนี้จะมีลำตัวที่เล็กและเพรียวยาว โดยมากจะมีสีเขียวสดกลมกลืนไปกับกิ้งไม้ใบไม้ มีหัวที่แหลมเหมือนลูกศรและปลายปากจะแหลม มีดวงตาเป็นรูปขีดขวางแนวนอน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง ที่ไม่เหมือนงูชนิดอื่น ที่นัยตาจะเป็นขีดแนวตั้ง

งูเขียวปากจิ้งจก มีความยาวได้ถึง 180 เซนติเมตร เป็นหนึ่งในงูกลุ่มงูพิษเขี้ยวหลังที่มีพิษอ่อนมาก ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ เป็นงูที่ชอบกินสัตว์เล็กๆ อย่าง กบ นก กิ้งก่า รวมทั้งแมลง ถือเป็นหนึ่งในนักกำจัดศัตรูพืชที่สำคัญ

อันดับ 5 : งูเขียวปากแหนบ (Long-nosed whip snake)

งูเขียวปากแหนบ มีลักษณะทางกายภาพภายนอก เหมือนงูเขียวปากจิ้งจกแทบทุกประการ แตกต่างกับตรงที่ปลายปากของงูเขียวปากแหนบ จะมีติ่งเล็กๆ ยื่นออกมาเพียงเล็กน้อย

หากสังเกตตามรูปให้ดีๆ จะมองเห็นติ่งที่ปลายปากของมัน เนื่องจากเป็นงูในสกุลเดียวกัน แต่เป็นคนละสปีชี่ส์ แหล่งข้อมูลบางแห่ง มักจะยุบรวมกันเป็นตัวเดียวกันเสมอ แต่จริงๆ แล้วเป็นคนละตัวกัน เราอาจพบเจอได้ตามบ้านเรือน เป็นงูที่ไม่เป็นอันตราย

อันดับ 4 : งูหัวกะโหลก (puff-faced water snake)

งูหัวกะโหลก แม้ชื่อมันจะฟังดูน่ากลัว แต่ชื่อของมัน ถูกตั้งตามลายบนหัวของมันเท่านั้น ใครเจองูชนิดนี้ จะคิดว่ามีพิษร้ายแรงแน่นอน แต่ตรงข้ามเลย เพราะมันมีนิสัยน่ารัก เชื่องช้า ลำตัวนิ่ม มักอาศัยตามแหล่งน้ำนิ่ง เป็นงูที่ชอบจับปลากินเป็นอาหาร แม้งูชนิดนี้จะมีพิษ แต่ต้องบอกว่าเจ้านี่เป็นงูพิษอ่อนมาก ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์เลย

งูหัวกะโหลกในวัยเด็ก จะมีลวดลายขวางตามตัว มีสีจะออกน้ำตาลส้ม เมื่อโตขึ้นตัวจะสีคล้ำลง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่พบเจอด้วย โตเต็มที่จะยาวได้ถึง 2 เมตร

อันดับ 3 : งูสายรุ้ง (Rainbow mud snake)

งูสายรุ้ง เป็นงูน้ำอีกชนิดที่พบในไทย และเป็นงูพิษเขี้ยวหลังที่ไม่เป็นอันตราย เช่นเดียวกับงูหัวกะโหลก งูสายรุ้งเป็นงูที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก มีลักษณะลำ ตัวเป็นเกล็ดเลื่อมมีความแวววาว แต่ไม่เท่างูแสงอาทิตย์ มีลายเส้นพาดยาวตลอดลำตัว มักอาศัยตามแหล่งน้ำนิ่ง กินปลาเป็นอาหารหลัก มีนิสัยที่ไม่ดุร้ายหรือก้าวร้าว สามารถพบได้ตามแหล่งน้ำทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

อันดับ 2 : งูก้นขบ (Red-tailed pipe snake)

งูก้นขบ เป็นหนึ่งในงูไทยที่ถูกเข้าใจผิดว่ามีพิษมาโดยตลอด ด้วยรูปร่างหน้าตาและสีที่ดำของมัน เป็นงูที่มีท้องลายดำสลับขาว มีลายปล้องข้างตัวสองข้าง และลายมักจะมีสีส้ม ปลายหางแบนสีส้ม

งูก้นขบ หากถูกกวนมากๆ สิ่งที่มันทำคือแกล้งตายเท่านั้น ความพิเศษอีกอย่างของงูก้นขบคือ ถึงแม้จะเป็นงูที่ไม่มีพิษและไม่ดุร้าย แต่มันกลับเป็นงูที่กินงูพิษเป็นอาหารได้ งูก้นขบจึงช่วยลดประชากรงูพิษโดยการจับงูพิษกิน

อันดับ 1 : งูแสงอาทิตย์ (Sunbeam snake)

งูแสงอาทิตย์ เป็นงูอีกชนิดที่ถูกคนไทยเข้าใจผิดว่ามีพิษ และยังมีความเชื่อแปลกๆ เช่น หากผู้ถูกงูแสงอาทิตย์กัด เมื่อตะวันตกดินจะตายทันที ความเชื่อนี้จึงถูกส่งต่อกันมานาน แต่แท้ที่จริงแล้ว งูแสงอาทิตย์ไม่มีพิษเลยและยังไม่ชอบกัดคนด้วย

งูแสงอาทิตย์เป็นงูที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น และเป็นที่ชื่นชอบในหมู่คนเลี้ยงงู เพราะมีเกล็ดที่แวววาว ยามสะท้อนแสงจะเลื่อมเป็นสีรุ้งดูสวยงาม งูแสงอาทิตย์ยังชอบกินงูชนิดอื่นเป็นอาหาร มีประโยชน์ในการกำจัดงูพิษอื่นๆ สามารถพบงูแสงอาทิตย์ได้ตามทุ่งโล่ง บริเวณสวนหรือแม้แต่ในนาข้าวก็เจองูแสงอาทิตย์ได้

อ่านเรื่องอื่น

บทความก่อนหน้านี้ปลากะแมะ ‘นักต้มตุ๋น’ แห่งป่าพรุโต๊ะแดง
บทความถัดไป9 อันดับ ‘สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม’ ที่มีอัตราการล่าสำเร็จสูงสุดในโลก