ปลาบึก (Mekong giant catfish) เป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่มาก ขนาดตัวเต็มวัยยาวประมาณ 3 เมตร มีน้ำหนักมากกว่า 250 กิโลกรัม แต่เดิมเป็นปลาเฉพาะถิ่นที่พบเฉพาะในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาเท่านั้น และเป็นเรื่องจริงที่จำนวนปลาบึกเหลืออยู่ในธรรมชาติน้อยมากๆ จนถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ
ปลาบึกเป็นปลาที่เมื่อโตเต็มวัยจะไม่มีฟัน แต่ในปลาวัยเด็กจะมีฟันและกินสัตว์อื่นเป็นอาหารได้ เมื่อโตขึ้นฟันจะหลุด และดวงตาของมันจะอยู่ต่ำกว่ามุมปาก หากมองจากด้านหน้าตรงๆ จะไม่เห็น สิ่งนี้แสดงให้เห็นวิวัฒนาการที่ทำให้ปลาบึกเป็นปลาที่หากินตามท้องน้ำ
การสืบพันธุ์ในธรรมชาติของปลาบึก ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัด?
รู้หรือไม่ว่าในธรรมชาติ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในแม่น้ำโขงเขตประเทศไทย ไม่เคยจับลูกปลาบึกได้เลย เราจะพบเฉพาะตัวเต็มวัยเท่านั้น
พวกเราไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว พวกมันสืบพันธุ์กันยังไง.? ปลาบึกผสมพันธุ์ในช่วงเวลาใดของปี ลูกปลาบึกไปอยู่ที่ไหน..? แต่ก็สันนิฐานได้ว่าอาจอยู่ในโตนเลสาบหรืออาจขึ้นไปทางจีน
นักวิจัยเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ปลาบึกแม่น้ำโขงจะใช้ผืนน้ำบริเวณที่ตั้งของ “เขื่อนไซยะบุรี” เป็นเส้นทางอพยพ โดยปลาตัวเต็มวัยจะอพยพผ่านพื้นที่นี้ จากเขตอนุบาลปลาบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึงไปยังจุดวางไข่ที่ต้นน้ำ
ส่วนฤดูวางไข่น่าจะอยู่ราวๆ เดือนกุมภาพันธ์ โดยปลาบึกจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ทางตอนเหนือของแม่น้ำโขง บริเวณหลวงพระบางในประเทศลาวซึ่งเป็นบริเวณร่องน้ำลึก ที่มีเกาะแก่งเหมาะแก่การผสมพันธุ์และวางไข่ในฤดูแล้ง
พอถึงฤดูน้ำหลาก ฝูงปลาจะว่ายตามน้ำลงมายังแม่น้ำโขงตอนล่าง แต่ทั้งหมดได้พังทลายไปแล้ว เพราะมีเขื่อนขวางทางพวกมันเอาไว้
โชคดีที่กรมประมงเพาะพันธุ์ได้สำเร็จ
ในสมัยที่ปลาบึกใกล้หมดไปจากธรรมชาติ กรมประมงของไทยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พวกเขาเริ่มการทดลองเพาะพันธุ์ปลาบึกขึ้น จนในปี พ.ศ. 2526 กรมประมงก็ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบึกโดยใช้พ่อแม่พันธุ์จากแม่น้ำโขง
จากนั้นก็นำไปเลี้ยงในบ่อดินที่สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา โดยหวังว่าปลาเหล่านี้จะกลายเป็นพ่อแม่พันธุ์ในรุ่นต่อไป จนในปี พ.ศ. 2543 กรมประมงได้ทำการทดลองเพาะพันธุ์จากปลาบึกที่เลี้ยงในบ่อดิน
และก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ดูเหมือนไข่ปลาที่ได้รับการผสมจากน้ำเชื้อจะพัฒนาไปถึงระดับหนึ่งเท่านั้น สุดท้ายก็ไม่สามารถพัฒนาเป็นลูกปลาได้
จนถึงปี พ.ศ. 2544 จึงสามารถเพาะพันธุ์ปลาบึกได้ 3 ครั้ง
- ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน เป็นแม่ปลาน้ำหนัก 54 กิโลกรัม และพ่อปลาน้ำหนัก 41 กิโลกรัม ได้ลูกปลาบึกรุ่นแรก จำนวน 9 ตัว แต่สุดท้ายก็เหลือรอดเพียงตัวเดียว ถือว่าเป็นปลาบึกตัวแรกที่เพาะพันธุ์ได้สำเร็จ มันคือผลของความพยายามตลอด 18 ปี ของกรมประมง
- ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน แม่ปลามีน้ำหนัก 54 กิโลกรัม พ่อปลาน้ำหนัก 60 กิโลกรัม รีดไข่จากแม่ปลาได้ไข่น้ำหนัก 1,200 กรัม น้ำหนักไข่ 1 กรัม นับได้ 656 ฟอง หมายความว่าได้ไข่ปลา 787,200 ฟอง ไข่ได้รับการผสม 558,940 ฟอง ได้ลูกปลาจำนวน 330,250 ตัว
- ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม แม่ปลามีน้ำหนัก 47 กิโลกรัม พ่อปลาหนัก 40 กิโลกรัม ทำการเพาะพันธุ์และรีดไข่ได้ 743 กรัม น้ำหนักไข่ 1 กรัม นับได้ 506 ฟอง ได้ไข่ปลา 375,958 ฟอง ไข่ได้รับการผสม 242,004 ฟอง เมื่อลูกปลามีอายุ 3 วัน เหลือลูกปลาจำนวน 70,000 ตัว
ยุคของปลาบึกเชิงพาณิชย์
เมื่อเพาะพันธุ์ได้สำเร็จจนเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง กรมประมงได้เริ่มกระจายลูกปลาบึกไปทั่วทั้งประเทศ ทั้งนี้ก็เพื่อปล่อยในแหล่งน้ำ และจำหน่ายให้กับประชาชนนำไปเลี้ยง และนี่คือจุดเริ่มต้นของปลาบึกเชิงพาณิชย์
แต่ก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยที่จะเลี้ยงให้กลายเป็นปลาเศรษฐกิจ นั้นเพราะปลาบึกมีขนาดใหญ่ จึงต้องใช้พื้นที่ในการเลี้ยงและเวลาที่มากตามไปด้วย …แม้มันจะได้ชื่อว่าปลาที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกก็ตาม แต่ก็ยังใช้เวลานานเกินไปอยู่ดี
ยุคของปลาบึกฟิชชิ่งปาร์ค
การมาถึงของปลาบึกที่กรมประมงส่งออกมา ผู้ที่ได้รับผลดีอย่างเห็นได้ชัดดูเหมือนจะเป็น “ฟิชชิ่งปาร์ค” ผมจำได้เมื่อหลายสิบปีก่อน แม้แต่บึงสำราญที่ปลารับแขกคือปลาสวาย การจะตกปลาบึกได้ถือเป็นเรื่องยากมาก
จนวันเวลาผ่านไป ปลาบึกที่ถูกเลี้ยงในบ่อดินมีจำนวนมากขึ้น จนราคามันถูกลง จนในที่สุดไม่ว่าจะเป็นบ่อตกปลาไหน ก็มีปลาบึกจำนวนมากให้นักตกปลาได้ตกกัน และปลาบึกก็กลายเป็นตัวดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางเข้าไทยเพื่อตกปลาชนิดนี้ …แต่ถึงงั้นก็ยังไม่สามารถมาแทนที่ปลาบึกแท้ๆ ในธรรมชาติได้อยู่ดี
ในยุคนี่เราพอจะได้เห็นปลาบึกได้ตามแหล่งน้ำต่างๆ โดยเฉพาะในอ่างเก็บน้ำ เขื่อน หรือในแม่น้ำก็มีรายงานว่าจับมันได้ แต่ 99.9% ไม่ใช่ปลาบึกธรรมชาติ และยังมีลูกผสมระหว่างปลาสวายและปลาบึก ซึ่งถูกเรียกว่าบิ๊กหวายออกมาอีกด้วย
จนในตอนนี้กรมประมงขอความร่วมคือ งดปล่อยปลาบึกลงในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา ทั้งใน แม่น้ำพอง แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำสงคราม แม่น้ำอิง แม่น้ำกก รวมถึงแม่น้ำสายอื่นๆ ที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง ทั้งนี้เพื่ออนุรักษ์ประชากรธรรมชาติของปลาบึกในแม่น้ำโขง