หน้าแรก NATURE & ANIMALS 5 ปลาดุกน้ำจืดไทย ที่คุณพบได้ในธรรมชาติ

5 ปลาดุกน้ำจืดไทย ที่คุณพบได้ในธรรมชาติ

ปลาดุกที่กำลังพูดถึงต่อไปนี้ เป็นปลาดุกที่พบได้ในธรรมชาติของประเทศไทย แน่นอนว่าปลาดุกทั้ง 5 ชนิดนี้ ไม่ได้เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์

1 – ปลาดุกอุย (Broadhead catfish) – Clarias macrocephalus

ปลาดุกอุย หรือ ปลาดุกนา เป็นปลาดุกไทยแท้ ปัจจุบันเป็นปลาที่หายากในธรรมชาติ เพราะมันถูกแทนที่ด้วยปลาดุกชนิดอื่น โดยปลาดุกอุยเป็นปลาที่มีรสชาติดี เนื้อนุ่มมีมันมาก แน่นอนว่าราคาค่อนข้างแพงด้วย

ปลาดุกอุย (Broadhead catfish) – Clarias macrocephalus

ในตอนที่ยังเล็กปลาดุกอุยจะลำตัวสีค่อนข้างเหลือง มีจุดประตามด้านข้างของลำตัว 9 – 10 แถบ เมื่อโตขึ้นจะเลือนหายไป ผนังท้องมีสีขาวถึงเหลือง หัวค่อนข้างทู่ ที่สังเกตได้ชัดคือ ส่วนกะโหลกท้ายทอยจะดูโค้งมน ..ในภาษาใต้ เรียกปลาดุกอุยว่า “ปลาดุกเนื้ออ่อน”

2 – ปลาดุกด้าน (Walking catfish) – Clarias batrachus

ปลาดุกด้าน มีลักษณะคล้ายกับปลาดุกอุย แต่ปลาดุกอุยจะมีลำตัวสั้นป้อมกว่า ส่วนปลาดุกด้านจะมีรูปร่างค่อนข้างยาวเรียว ส่วนหางค่อนข้างแบน มีสีเทาปนดำ ส่วนท้องมีสีขาว เป็นปลาดุกที่สามารถเคลื่อนตัวไปบนบกได้เป็นระยะทางสั้นๆ ได้

ปลาดุกด้าน (Walking catfish) – Clarias batrachus

ในเรื่องรสชาติ “ปลาดุกด้าน” ยังสู้ปลาดุกอุยไม่ได้ เนื่องจากมีดุกอุยมีรสชาติมัน อร่อย แต่ก็ยังเป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง เป็นปลาดุกที่นำมาทำอาหารต่างๆ เช่น ปลาดุกย่าง, ปลาดุกฟู หรือปลาหยองเป็นต้น

3 – ปลาดัก (Blackskin catfish) – Clarias meladerma

แม้ปลาดักจะไม่มีชื่อปลาดุกนำหน้า แต่มันก็อยู่ในวงศ์สกุลเดียวกับปลาดุก ปลาดักมีรูปร่างคล้ายปลาดุกด้าน เว้นแต่ที่ครีบอกด้านหน้า มีลักษณะขอบหยักคล้ายฟันเลื่อย และมีผิวเนื้อสีดำ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ปลาดุกเนื้อเลน” เมื่อโตเต็มวัยจะยาวประมาณ 35 เซนติเมตร .. ในประเทศไทยพบได้แถบภาคกลางตอนบนและภาคอีสาน

ปลาดัก (Blackskin catfish) – Clarias meladerma

4 – ปลาดุกลำพัน (Slender walking catfish) – Clarias nieuhofii

ปลาดุกลำพันจัดเป็นปลาเนื้อดี หาได้ยากทั้งในธรรมชาติหรือแม้แต่ในที่เลี้ยง ความจริงสถานะของปลาชนิดนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง แต่ก็ยังพบได้ในตลาดบางพื้นที่ เป็นปลาที่ชอบอาศัยในแหล่งน้ำนิ่งที่เป็นกรด เช่น ในป่าพรุ และลำธารในป่าดิบชื้น พบเฉพาะในภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป และภาคตะวันออกตั้งแต่ จังหวัดจันทบุรี … บางพื้นที่เรียกว่า “ปลามัด”

ปลาดุกลำพัน (Slender walking catfish) – Clarias nieuhofii

ลักษณะของปลาดุกลำพัน จะมีลำตัวที่ยาวเป็นพิเศษ ยาวสุดที่เคยพบคือ 60 เซนติเมตร สีของลำตัวค่อนข้างดำ ตัวโตเต็มวัยจะมีสีเข้ม แต่ก็เปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม ข้างลำตัวมีจุดสีขาวเรียงเป็นแถวตามขวางประมาณ 13 – 20 แถวยกเว้นบริเวณท้อง

5 – ปลาดุกลำพันภูเขา (Hillstram walking catfish) – Clarias cataractus

ปลาดุกลำพันภูเขา เป็นปลาดุกที่มีลักษณะใกล้เคียงกับปลาดุกลำพัน แต่ปลาดุกลำพันภูเขามีลำตัวที่สั้นกว่า พบในแหล่งน้ำแถบภูเขาในภาคอีสานและภาคใต้ของไทย และอาจพบที่ภาคตะวันออกของไทยด้วย ปัจจุบันพบน้อยมาก สถานภาพจึงไม่เป็นที่แน่ชัด

ปลาดุกลำพันภูเขา (Hillstram walking catfish) – Clarias

ดุกลำพันภูเขา มีส่วนหัวเล็ก ลำตัวยาว ครีบหลังและครีบก้นยาวมาก มีหนวด 4 คู่ รอบปาก ตามีขนาดเล็ก ลำตัวสีน้ำตาลอมเขียวและมีจุดสีจางหรือสีเหลืองอ่อนเรียงเป็นแถว 10-12 แถว ด้านท้องสีจาง

อ่านเรื่องอื่น