หน้าแรก NATURE & ANIMALS เรื่องราวของ ‘ปลาหางนกยูง’ ปลาที่ไม่เคยมีอยู่ในไทย จนเมื่อ 100 กว่าปีก่อน

เรื่องราวของ ‘ปลาหางนกยูง’ ปลาที่ไม่เคยมีอยู่ในไทย จนเมื่อ 100 กว่าปีก่อน

สารภาพตามตรงว่า แม้แต่ตัวผมเองก็เคยคิดว่า "ปลาหางนกยูง" เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยตั้งแต่แรก เพราะตั้งแต่จำความได้ก็เจอพวกมันอยู่แทบที่ แม้แต่ตามทางระบายน้ำ ก็ยังมีปลาชนิดนี้อยู่เต็มไปหมด แต่พวกมันมาอยู่ในประเทศไทยได้อย่างไร? เดี๋ยวมาดูเรื่องราวของพวกมันกัน

ปลาหางนกยูง

ปลาหางนกยูงคืออะไร?

ปลาหางนกยูง (Guppy) เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก พวกมันอยู่ในวงศ์ปลาสอด (Poeciliidae) ในต่างประเทศอาจเรียกพวกมันว่า “ปลาสายรุ่ง (rainbow fish)” เป็นปลาในเขตร้อนที่แพร่กระจายอย่างกว้างขวางที่สุดในโลก และยังเป็นสายพันธุ์ปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมอย่างมากอีกด้วย

ปลาหางนกยูง มีความยาวไม่เกิน 5 เซนติเมตร มีจุดเด่นอยู่ที่ครีบหางที่มีขนาดใหญ่ โดยปลาตัวผู้และตัวเมียจะมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ตัวผู้จะมีลำตัวขนาดเล็กกว่ามาก แต่จะมีสีสันและครีบที่สวยงามกว่ามากเช่นกัน ในขณะที่ตัวเมียใหญ่กว่า ในเรื่องสีสันและครีบก็มีความสวยงามก็น้อยกว่า

แต่เดิมแล้วจะพบปลาหางนกยูงได้ในทวีปอเมริกากลางจนถึงอเมริกาใต้ พวกมันจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดจนถึงน้ำกร่อยที่มีกระแสน้ำไหลเอื่อยๆ เป็นปลาที่อยู่กันเป็นฝูง และหากินบริเวณผิวน้ำโดยกินทั้งพืชและสัตว์น้ำ รวมถึงแมลงหรือตัวอ่อนแมลงขนาดเล็ก

ต่อไปเป็นเรื่องราวของปลาหางนกยูงในประเทศไทย?

ปลาหางยูงที่อยู่กับคนไทยมาหลายชั่วอายุคน ถูกนำมาเลี้ยงในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ไม่มีบันทึกวิธีการนำเข้าหรือใครเป็นผู้นำปลาชนิดนี้เข้ามาในประเทศไทย

โดยปลาหางนกยูงถูกมองว่าเป็นปลาสวยงามตั้งแต่แรก และในสมัยนั้นจะเรียกปลาหางนกยูงว่า “ปลาเจ็ดสี” ซึ่งเรียกตามลักษณะที่แท้จริงของปลาชนิดนี้ และคนสมัยนั้นก็จำได้ง่าย

และเนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ค่อนข้างทนทาน พวกมันไม่จำเป็นต้องใช้ปั้มลมเพื่อเติมออกซิเจนในน้ำเหมือนปลาส่วนใหญ่ จึงมักถูกนำไปเลี้ยงในอ่างบัวโดยเลี้ยงครั้งละหลายสิบตัว แน่นอนว่า หากสภาพการเป็นอยู่ไม่แย่จริงๆ พวกมันจะสามารถออกลูกออกหลานเพิ่มได้อย่างรวดเร็ว

กำเนิดปลาหางนกยูงในปัจจุบัน

จนวันเวลาผ่านไป ปลาหางนกยูงเริ่มมีจำนวนมากขึ้น ประกอบกับถูกปล่อยลงสู่ธรรมชาติ จนพวกมันแพร่กระจายไปทั่ว และปลาหางนกยูงป่าก็กำเนิดขึ้นในไทย ปลาพวกนี้สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ผู้คนสามารถช้อนปลาหางนกยูงเพื่อนำไปเลี้ยงได้ฟรีๆ แน่นอนว่าปลาที่อยู่ในธรรมชาติ หาตัวสวยๆ ได้ยากมาก ความจริงพวกมันไม่มีราคาแต่อย่างใด

ในยุคสมัยนี้ แม้ปลาหางนกยูงที่มีมาก จนดูเหมือนพวกมันจะสามารถอยู่ได้ทุกที่ แต่จริงๆ แล้ว ปลาหางนกยูงพวกนี้ ก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากการถมที่เพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ทิ้งขยะและยังมีน้ำเสียที่ปล่อยสู่แหล่งน้ำ จนปลาหางนกยุงสายพันธุ์ดังเดิมเกือบจะสูญพันธุ์

โดยสายพันธุ์ดังเดิม ตามที่มีคนบอกเล่ามา มันจะมีลักษณะเด่นตรงที่มีจุดสีกลมๆ คล้ายดวงตา เรียงตามข้างลำตัวไปจนถึงหางประมาณ 3 – 4 จุด ยิ่งจุดเรียงตัวสวยก็ยิ่งเป็นปลาที่สวยและหายาก ส่วนหางจะสั้นไม่สวยเหมือนปลาหางนกยูงเลี้ยงในตอนนี้

ปัจจุบันปลาหางนกยูงได้ถูกพัฒนาสายพันธุ์ ให้มีสีสันและลวดลาย รวมทั้งขนาดลำตัวให้แตกต่างหรือสวยงามไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติเยอะมาก โดยมีชื่อเรียกหลายสายพันธุ์เช่น ทักซิโด้, กราซ, คอบร้า, โมเสก, หางดาบ เป็นต้น

ต่อไปมาดูตัวอย่างของปลาหางนกยูงที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์

1. สายพันธุ์โมเสคหรือชิลี (Mosaic / Chili) : เป็นปลาหางนกยูงที่ลำตัวจะมีสีอะไรก็ได้ แต่ต้องไม่มีลวดลาย และอาจดูแวววาวคล้ายแพลตตินั่ม ในส่วนครีบหางจะมีลวดลายแบบโมเสค โดยลายจะมีลักษณะเป็นแต้มใหญ่ อาจมีสีแดง เหลือง น้ำเงินหรือสีใดก็ได้ และครีบหลังจะมีลวดลายและสีสอดคล้องกับครีบหาง
2. สายพันธุ์กราซ (Glass/Grass) : เริ่มจากลำตัวจะมีสีอะไรก็ได้ แต่ไม่ควรมีลายหรือแถบสี แต่สีที่พบได้มากที่สุดคือ สีขาว เหลือง น้ำเงินและแดง ใส่ส่วนครีบหางจะมีสีอ่อนค่อนข้างโปร่งแสง มีจุดแต้มเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วหาง โดยทั่วไปจุดจะมีขนาดใกล้เคียงกัน และครีบหลังก็ควรมีลวดลายและสีสอดคล้องกับครีบหาง
3. สายพันธุ์คอบบร้าหรือสเน็คสกิน (Cobra / Snake skin) : ลำตัวมีลายคล้ายหนังงู ถ้ามีลายคล้ายม้าลายถือว่าไม่สวย ในส่วนครีบหางมีลายเช่นเดียวกัน ส่วนมากจะเป็นสีน้ำเงิน เหลืองและแดง หรืออาจเป็นสีเดียวกันเลยก็ได้ ครีบหลังก็ควรมีลวดลายและสีสอดคล้องกับครีบหาง และสายพันธุ์นี้บางทีจะมีครีบหลังเล็กกว่าสายพันธุ์อื่น
4. สายพันธุ์ทักซิโด้ (Tuxedo/Half black) : ลักษณะลำตัวจากบริเวณกึ่งกลางลำตัว ไปสุดโคนหางจะมีสีดำหรือน้ำเงินเข้ม ลำตัวอาจจะมีความแวววาวคล้ายแพลททีนั่ม ในส่วนครีบหางอาจเป็นสีพื้นหรือมีลวดลาย และครีบหลังก็ควรมีลวดลายและสีสอดคล้องกับครีบหาง
5. สายพันธุ์โซลิด (Solid) : ปลาหางนกยูงชนิดนี้ลำตัวและครีบทุกครีบจะมีสีโทนเดียวกัน และเป็นสีอะไรก็ได้ ครีบหางและครีบหลังต้องไม่มีจุดหรือลวดลาย สุดท้ายครีบหลังก็ควรมีลวดลายและสีสอดคล้องกับครีบหาง
6. สายพันธุ์ริบบอน (Ribbon) : ลักษณะคือมีครีบทุกครีบยาว และควรมีความยาวใกล้เคียงกัน ในส่วนครีบใต้ท้องจะยาวมากเป็นพิเศษ ในเรื่องสีจะยังไงก็ได้
7. สายพันธุ์สวอลโล (Swallow) : ลักษณะของครีบหางจะแตกแขนงยื่นยาวออกจากครีบหางปกติ จะเป็นเส้นหรือแผ่นก็ได้ และทุกครีบควรจะมีลักษณะแตกแขนงได้สัดส่วน ซึ่งเป็นเส้นหรือแผ่นก็ได้

ในฐานะปลาต่างถิ่น ปลาหางนกยูงอาจมีประโยชน์มากกว่าโทษ

แม้ปลาหางนกยูง จะเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ปลาที่มาจากต่างประเทศ และพวกมันก็หลุดลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ จนสุดท้ายก็มีนับล้านตัวในประเทศไทย แต่พวกมันกลับไม่ได้แย่เหมือนพวกปลาซัคเกอร์แต่อย่างใด

เนื่องจากปลาชนิดนี้สามารถอยู่ในแหล่งน้ำขังตื้นๆ ตามทางระบายน้ำได้ พวกมันจะกินลูกน้ำและช่วยลดประชากรยุงในพื้นที่ได้

แน่นอนว่าแม้แต่กระทรวงสาธารณสุข ยังเคยรณรงค์ให้คนไทย เลี้ยงปลาหางนกยูงไว้ในภาชนะที่ใส่น้ำในบ้าน เพื่อให้พวกมันกินลูกน้ำและยุง ซึ่งช่วยป้องกันโรคต่างๆ ที่เกิดจากยุงได้ นอกจากนี้พวกมันยังช่วยเลี้ยงดูสัตว์นักล่าหลายชนิด เช่น ปลาและนกที่มีขนาดใหญ่พอที่จะกินพวกมัน

แม้มันจะมีประโยชน์ตามที่กล่าวมา แต่มีงานวิจัยได้ระบุว่า ปลาหางนกยูงมีพฤติกรรมกินไข่ปลาพื้นเมืองเช่นกัน บางครั้งพวกมันก็กินกันเอง และยังกินลูกของตัวเองอีกด้วย แต่ถึงอย่างนั้นก็สังเกตุพบได้น้อยในธรรมชาติ

สรุปก็คือปลาหางนกยูงไม่ถือเป็นปลาท้องถิ่นของประเทศไทย พวกมันเริ่มเข้ามาตั้งรกรากในไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ในฐานะสัตว์เลี้ยง และจนถึงทุกวันนี้พวกมันก็ยังคงเป็นเช่นเดิม เพิ่มเติมคือความสวยที่หลากหลายมากขึ้น

ในขณะที่ปลาหางนกยูงที่อยู่ในธรรมชาติ ก็จะอยู่ในฐานะปลาที่พบได้มากในแหล่งน้ำหลายแห่ง พวกมันเป็นทั้งเหยื่อและนักล่าในเวลาเดียวกัน และจากนี้พวกมันก็จะอยู่ในไทยไปอีกนานแสนนาน

บทความก่อนหน้านี้9 อันดับ ‘สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม’ ที่มีอัตราการล่าสำเร็จสูงสุดในโลก
บทความถัดไปประวัติ ‘ปลาบึก’ รอดจากการสูญพันธุ์จนกลายเป็นปลาบึกเชิงพาณิชย์ได้อย่างไร?